3.เรื่องของการใช้ประโยชน์ในเรื่องของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

 

เป็นเรื่องของเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่อง แต่ก็เป็นเรื่องเหมือนดั่งที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากในกาลครั้งหนึ่งในสมัยก่อนเมื่อไม่นานมานี้ มีใครคนใดคนหนึ่งเดินอยู่ที่ริมถนนอยู่ดีๆ ก็ไม่รู้ว่ามีใครหน้าไหนก็ไม่รู้ ขับขี่รถมาชนคนเดินถนนคนนั้นหรือหลายๆคน ตกถนนกระเด็นกระดอนไปๆมาๆ หลายตลบ สุดท้ายก็มานอนลิ้นแล็บอยู่กลางถนน ส่วนเจ้าโชเฟอร์ผู้รู้สำนึกในการกระทำ ส่วนใหญ่จะยอมรับผิดด้วยการหนีไปตั้งหลักเสมอ จริงๆแล้วพวกนี้ไม่ดีเพราะว่าไม่ยอมสู้กับความจริง แต่ก็มีบางพวกที่ไม่ยอมหนีไปไหน เพราะเป็นคนดียอมอยู่สู้กับความจริง ด้วยการจอดรถสงบนิ่งที่โคนต้นไม้ใหญ่ ไม่ยอมไปไหน ไม่ยอมหนีเพราะว่ามันโดนอัดก็อบบี้คารถดิ้นกระเด๊กๆไปไหนไม่ได้ ต้องนอนรอให้ตำรวจจับดำเนินคดีโดยละม่อม ….เฮ้อ…น่าสงสาร ปรากฏว่าพอจับกุมดำเนินคดีแล้ว ไถ่ถามแล้ว โถ….โถ…..ชีวิต…….ตีนผีคนนี้……….เป็นคนที่น่าสงสารมาก…. ตั้งแต่ขับรถมานี่ไม่ถึงปี…..แค่ชนคนเดินถนนตายบ้าง…..บาดเจ็บบ้าง……ไม่กี่คนเท่านั้นเอง…..เพราะฐานะที่บ้านยากจน…..ต้องหากินปากกัด…..ถีบไม่เคยหยุด….พ่อก็แก่แม่ก็ชรามากแล้ว…..ไหนจะเมียไหนลูกอีก…..โถ..มีชีวิตที่น่าสงสาร ซักไปซักมาปรากฏความจริงว่า…..เป็นประเภทจนแล้วไม่เจียมอะไรทำนองนั้น เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาก็ไม่มีใครที่จะมาเยียวยารักษาความเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายได้ กฎหมายก็เลยต้องบังคับให้มีการกำหนดให้รถทุกคันต้องทำประกัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือที่เราเรียกว่า พ.ร.บ.บุคคลที่สาม ถ้าใครไม่ทำประกันจะไม่ให้ต่อทะเบียนรถ และถ้ารถใครที่ไม่มีประกันประเภทนี้ ถ้าถูกจับก็ต้องถูกปรับเป็นหมื่น ตามสโลแกนที่บริษัทประกัน เขียนขู่ไว้หน้าบริษัทเพื่อชักชวนให้เราทำประกันกับบริษัทเขานั่นเอง ในเรื่องของการใช้ประโยชน์ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนี้นะครับ ซึ่งทางบริษัทผู้รับประกันภัย จะใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีรถคันที่ทำประกันกับบริษัทนั้นๆ ขับขี่ไปเฉี่ยวชนให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ค่าสินไหมทดแทนก็คือ ใช้เงินค่าเสียหายนั่นแหละครับ ในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ของผู้ประสบภัยทุกคนนะครับและผู้ประสบภัยนั่นต้องเป็นผู้ประสบภัยจากรถที่ใช้ , หรืออยู่ในทางเดินของรถ หรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุกมาในรถตกใส่ หรือ สิ่งที่ติดตั้งในรถนั้นหลุดมา หรือดีด ทำให้คนอื่นบาดเจ็บหรือตาย เรียกได้ว่ากฎหมายให้เรียกค่าสินไหมทดแทนได้หมดครับ แต่ก็น่าสังเกตุได้ว่า ค่าสินไหมทดแทนจาก พ.ร.บ.นี้จะไม่รวมความเสียหายในกรณีของความเสียหาย เกี่ยวกับทรัพย์สิน นะครับ เพราะเบี้ยประกันประเภทนี้ค่อนข้างถูก มีเงินเล็กน้อยก็สามารถซื้อประกันประเภทนี้ได้ครับ ถ้าต้องให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินได้เหมือนประกันประเภทหนึ่ง ซึ่งค่าเบี้ยประกันแพง อย่างนี้ไม่ไหวครับ บริษัทประกันก็คงเจ๊งกันเป็นแถบๆ แต่ในกรณีเรียกค่าเสียหายได้เฉพาะชีวิตและร่างกายก็ยังดีที่ไม่ได้รับชดเชยอะไรเลยไม่ใช่หรือครับ รับไปเถอะน่า…อย่าเรื่องมาก…….ทีนี้เรามาดูสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนะครับว่า เราสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้อะไรบ้าง

1. ค่าเสียหายเบื้องต้น คือไม่ต้องรู้หรอกครับว่าใครเป็นผิดหรือถูกอย่างไร เกิดเหตุปุ๊บก็ขอให้ไปรีบรับเลยครับ กฎหมายให้บริษัทที่รับทำประกัน จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นก่อนดังนี้ครับ

1.1 กรณีบาดเจ็บ บริษัท ฯ จ่ายให้ตามที่เสียค่ารักษาพยาบาลจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ครับ ไม่เกินจากนี้นะครับ ถ้าค่ารักษาเกินไปจากนี้ ไปหาจ่ายเอาเอง

1.2 กรณีเสียชีวิตทันที ไม่ยอมดิ้น ไม่ยอมหนีไปรักษาที่ไหน เพรารู้ตัวดีว่าตนเองจะไม่มีเงินรักษา ก็เลยขออนุญาตตายในที่เกิดเหตุเลย ในสภาพสุดสวย ลิ้นแล๊บ หัวแบนแต๊ตแต๋คาถนน อย่างนี้ บริษัท ฯ จ่ายค่าปลงศพให้ 35,000 บาท ไม่ขาดไม่เกิน

1.3 กรณีใจแข็งไม่ยอมตายง่ายๆ ขอดูหน้าหมอก่อน แล้วค่อยตาย ประเภททะลึ่งไม่เลิก เรียกว่า บาดเจ็บแล้วเสียชีวิต อย่างนี้ได้ค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายไปจริงครับ แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

2. ในกรณีสอบสวนหาสาเหตุแล้ว โล่งใจเป็นฝ่ายถูก ก็ได้รับการชดใช้ เพิ่มจากเดิมในกรณีค่ารักษาพยาบาลอีก เป็นไม่เกินคนละ 50,000 บาท และกรณีเสียชีวิตหรือพิการแขนหลุดขาหลุด เรียกได้ว่าแจ๊กพอตแตก รับไปเลยครับได้ 100,000 บาท ไม่ขาดไม่เกินครับ ……แหม..ดีจริงๆ…….แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครสักคนที่อยากได้ รางวัลก้อนนี้

พอรู้ว่ามีสิทธิที่จะได้รับเงินแล้วเนี่ย…..จะทำอย่างไรจึงจะได้เงิน ส.บ.ม.ย.ห. สบายมากอย่าห่วง จะได้เงินต้องทำอย่างนี้ครับ ไปขอรับที่ บริษัทประกันภัยรถที่ทำให้เราเสียหาย หรือ สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย หรือ สำนักงานประกันภัยจังหวัด เวลาไปก็อย่าไปมือเปล่าเพราะเขาไม่เชื่อใจใครง่ายๆ ต้องมีหลักฐานด้วย อาทิเช่น บันทึกประจำวัน , บัตรประชาชน , สำเนาทะเบียนบ้าน , สำเนากรมธรรม์ , ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล หรือถ้าตายไม่ฟื้นตื่นไม่มีก็ต้องใช้ใบมรณบัตร และใครเป็นทายาทก็ต้องใช้บัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของทายาทด้วย จึงไปขอรับเงินได้ครับ แต่ไม่ใช่ว่ากว่าจะหาหลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมานี้ได้ ก็ต้องใช้เวลามากมายหลายปีแล้วค่อยมาเบิกนะครับ กฎหมายเขาไม่ยอมรอนานขนาดนั้นหรอกครับ เฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นนี่ ต้องยื่นภายใน 6 เดือนเท่านั้น เพราะอะไรรู้ไหมครับ ก็เพราะว่าค่าเสียหายเบื้องต้นนี้ยังเป็นค่าเสียหายที่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ ใครผิดใครถูกยังไม่รู้มะลุมมะตุ้มกันอยู่ ฝุ่นยังตลบอบอวล ให้รีบมายื่นรับเอาเงินซะเร็วๆ ถ้าสอบสวนแล้วว่าเป็นฝ่ายผิดล่ะก็ (….ฮ่ะๆ….จ๋อยสนิท……แต่ถ้ารับเงินไปแล้ว……ไม่รู้ง่ะ…..ใช้เงินไปหมดแย้ว……หมดแย้วจริงๆ…… ) ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นก่อน อย่างอื่นค่อยว่ากันทีหลัง พอต่อมา ปรากฏว่าเราเป็นฝ่ายถูก ก็สามารถไปขอรับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมได้ตามสิทธิของผู้ถูกได้ แต่ต้องภายใน 2 ปี นะจ๊ะ ( อย่า….ลืม…อย่าลืม ) บางคนพอชนคนอื่นแล้วยังมีหน้ามาทำเป็นคนหัวหมอประเภท “ ฉันจ่ายค่าสินไหนทดแทนให้แกไปแล้ว แกไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไรจากฉันได้อีก เพราะว่าแกเซ็นต์ชื่อรับค่าเสียหายไปบางส่วนจากบริษัทที่ฉันทำประกันแล้ว…เมื่อแกเอาเงินฉันแล้ว ก็ถือว่าแกยินยอมตามข้อตกลงของฉันแล้ว แกจึงไม่มีสิทธิอะไรที่จะฟ้องร้องฉันได้อีก…..แกอยากโง่เซ็นต์เองทำไม “ คำพูดอย่างนี้คิดว่า คงจะไม่ออกไปจากปากของพวกเราชาวราชภัฎนะครับ เพราะว่ากฎหมายบอกว่า “ ค่าเสียหายส่วนเกินจากกฎหมายประกันภัย เรียกได้ตามปกติ สามารถฟ้องร้องเรียกได้อยู่ครับ เพียงแต่ว่าต้องฟ้องภายใน 1 ปี “ นะครับ เพราะฉะนั้น อย่าท้า……อย่าท้า…..เดี๋ยวเจอ..

อาจารย์เกริ่นมาเสียนาน ก็ขอบอกว่า ค่าเสียหายเบื้องต้นนี้นะครับฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูกก็เรียกได้ครับ แต่ถ้าต่อมาเป็นฝ่ายถูกก็สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มได้ครับ ตามสิทธิ แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายผิด ก็ไม่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนอะไรได้นะครับ จะขอรับความเสียหายเพิ่มเติมไม่ได้นะครับ เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะว่าเราผิดครับ

ทั้งหมดทั้งปวงเกี่ยวกับเรื่องรถเฉี่ยวชนกัน ก็มีเพียงเท่านี้แหละครับ เดิมตั้งใจจะเขียนบรรยายเพียง 3 ถึง 4 หน้าก็พอ แต่อาจารย์คิดว่าคงไม่ละเอียดเท่าไหร่ ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ก็เลยเอาเสียให้เต็มที่เลยครับ พวกท่านทั้งหลายจะได้พอจะมีความรู้บ้างไม่อายใครเขา และหวังว่าวิธีการปฏิบัติ ฯ นี้ คงจะเป็นแบบอย่างหรือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหากเกิดกรณีนี้ขึ้น แก่ท่านนักศึกษาทุกท่านนะครับ จะได้ใช้แนวทางที่อาจารย์บอกกล่าวแก่ท่านนี้ไปปฏิบัตินะครับ ความดีทั้งหมดทั้งปวงขอยกให้ท่านอาจารย์เฉลิมพร ที่ท่านให้โอกาสอาจารย์มาโม้ให้พวกท่านฟัง ส่วนความไม่ดีทั้งหมดทั้งปวง อาจารย์ขอน้อมรับเองนะครับ ผิดพลาดคลาดเคลื่อนโดยสุจริต ก็คงไม่ว่ากันนะครับ อาจารย์ขอฝากอีกนิดนะครับว่า

“ ดำเนินชีวิต อย่าประมาท พลาดพลั้งถึงตาย นะครับ “ อย่าลืม

…………………………..

หน้า 1  2  3  4  5  [จบแล้ว]

[หน้าแรก] [รวมสาระ] [แสดงความเห็นในกระดานถามตอบ]

สภาทนายความภาค 6 www.lawsociety6.org 

www.seal2thai.org

counter power by seal2th