ล่าเรื่องการสอบ NT   ... โดย ดร.เซมเบ้
 
 

 

 

 

 

 

     

   วันนี้ (13 ก.พ. 2550) ทั่งประเทศมีการจัดสอบ Nation test หรือ NT เป็นการวัดผลระดับชาติ เมื่อทำการสอบโดยบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ ดร.เซมเบ้เองก็อยากทราบจากเพื่อนๆทั้งหลายว่า เป็นอย่างไรบ้าง พบปัญหาอุปสรรคอะไร เพื่อจะนำมาลงในอินเทอร์เน็ต เผื่อว่าเลขาธิการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อาจบังเอิญผ่านเข้ามาเยี่ยมชมบ้าง

   เมื่อลงมือเปิดโปรแกรม MSN เรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มระดมสมองให้มากองอยู่ตรงหน้าจอมอนิเตอร์ พบเพื่อนๆ พี่ๆหลายต่อหลายท่าน เมื่อแกล้งแหย่รังแตนไปพบว่า หลายคนก็ต่างหลายความคิดเห็น และหลายประสบการณ์ โดยเฉพาะผู้มีโอกาสได้คุมระดับมัธยม พบว่า เด็กในเมืองย่อมได้เปรียบเด็กรอบนอก ทั้งในเรื่องของความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ ความพร้อมในการค้นคว้า หาตัวอย่างข้อสอบ NT ในรายวิชาต่างๆ เช่น ในระดับช่วงชั้นที่ 2 จะมีการสอบ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (สอบในภาคเช้า) วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ (ในภาคบ่าง) ส่วนใหญ่ต่างก็พบปัญหาตรงกันดังนี้

  • ความได้เปรียบเสียเปรียบจากการสุ่มผู้เรียน เพราะบางหน่วยงานมีการสุ่มผู้เข้าสอบ(นักเรียน)ไม่ครบ หรือสุ่มครบแล้วมีการเปลี่ยนตัวผู้เข้าสอบ
  • การจับเวลาของกรรมการคุมสอบ แม้ว่าจะมีการยึดถือระเบียบการควบคุมห้องสอบก็ตาม แต่บางท่านก็เข้ม เคร่ง ตึง ในอีกกลุ่ม ก็หย่อนยาน อะไรก็ได้
  • ความเคร่งครัดของกรรมการ บางจุดเชื่อว่าปล่อยให้นักเรียนมีโอกาสในการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต (เหมือนนักการเมืองบางกลุ่ม) แต่กรรมการบางชุด ควบคุมจนนักเรียนไม่กล้าที่จะสบตา หรือเปลี่ยนอิริยาบทอื่นๆเลย
  • และประการอื่นๆอีก

   ทีนี้เรามาศึกษาวิเคราะห์ดูว่า เหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา

   เมื่อได้สอบถามจากพี่น้องร่วมอาชีพ พบว่า หลายฝ่ายรู้สึกเหนื่อย ล้า และท้อ (สงสัยเห็นว่าครูหัวอ่อน คอยหลอกล่อว่า เดี๋ยวจะให้เงินวิทยฐานะ 3,500 แล้วนะ แล้วครูก็รีบทำงานตามสั่ง) ทั้งนี้เพราะการประเมินผลงาน ผลการปฏิบัติต่างๆ ฝ่ายผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบระดับสูง ต่างก็ยึดมั่นนโยบายว่า จะไม่ประเมินผลงานจากเอกสารแล้วทำการประเมินตามสภาพจริง พอถึงเวลามาตรวจ "เอ้าคุณ ผมขอดูในงบหน้าหน่อย" "คุณมีสมุดกิจกรรมหรือไม่" เป็นต้น ส่วนเพื่อนครูบางท่านก็มีภาระกิจมากเหลือเกิน เดี๋ยวเดินทางไปอบรมตามคำสั่งแต่ไม่มีเกียรติบัตรให้ เดี๋ยวเดินทางไปทำกิจกรรมให้กลุ่มโรงเรียน เดี๋ยวเดินทางไปกรอกข้อมูล แทบจะไม่มีเวลาสอนเลย (นี่แหละมั่ง ที่เข้าเรียกว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา) พอถึงเวลาประเมินผลงานมา คนที่มาตรวจก็ขอดูแต่งานผู้สอน แต่ครูกลับไม่มีโอกาสได้สอนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย พอถึงเวลาสอบ NT ผู้เกี่ยวข้องก็ดูแต่คะแนน ดูแต่ผลสัมฤทธิ์ ทีนี้ ครูที่ไม่ค่อยมีเวลาสอนก็จะกังวล และคิดว่าควรทำอย่างไรดีที่จะทำให้คะแนนของเด็กออกมามากๆ ... (เลือกเอาเองละกันว่าครูคนนั้นควรทำอย่างไร) แล้วถามว่า ทำไมต้องดิ้นรนทำแบบนั้นด้วย อ้าว! ถ้าคะแนนนักเรียนในรายวิชา ในกลุ่มสาระนั้นๆไม่ดี ครูก็โดนผอ.ด่า (ทั้งๆที่เวลาใช้งานเค้าไม่เคยคิดว่า เค้ามีเวลามาสอนเด็กหรือเปล่า หรือมัวทำงานให้โรงเรียนอยู่) จากนั้นก็โดนศึกษานิเทศเพ่งเล็ง แล้วก็โดนผอ.เขตพื้นที่ตำหนิ สุดท้ายก็ถูกต่อว่าจากระดับสูงๆว่า จัดการศึกษาไม่ประสบผลสัมฤทธิ์ ทีหลังนะครับ ถ้าต้องการข้อมูลอะไร กรุณาลงมาเก็บ ลงมาบันทึกข้อมูลเอง ไม่ใช่ "นายอยากได้ข้อมูลนักเรียนด่วน เฮ้ย ไม่เป็นไร จัดอบรมครู แล้วให้มันส่งข้อมูลมาให้เรา เราก็รวบรวมอย่างเดียว ใครไม่ส่ง หรือส่งช้า ก็ทวงมันผ่าน e-office ทุกวัน เดี๋ยวมันก็อาย" (เมื่อมีการ Chat ถึงประโยคนี้ ทุกท่านที่ Online ต่างก็ยอมรับและสนับสนุนผู้กล่าว ... บอกไม่ได้นะครับ ว่าพี่เค้าอยู่ จังหวัด พ. อุ้ย!! อิอิอิอิ)

   ไม่ว่าการสนทนาของเราอาจเป็นมุมมองเล็กๆก็ตาม แต่ก็สรุปกันได้ว่า การศึกษาไทยยังพัฒนาได้ช้า หากการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนยังไม่จริงจัง อีกทั้งการเพิ่มภาระงานให้กับโรงเรียนเพียงเพราะการคิดโครงการของคนใหญ่คนโต ทำให้รบกวนการสอนของครู

   ถ้าครู เป็นข้าราชการครูในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเต็มร้อยไม่ได้ มีการทุจริต ก็จะทำให้เราได้ผู้เรียนที่เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ (เด็กก็ดูจากครูนั่นแหละ) ถ้าครูสูบบุหรี่ แล้วบอกว่าการสูบบุหรี่ไม่ดี ใครจะเชื่อ หรือถ้าครูหาวิธีโกงข้อสอบเพื่อให้โรงเรียนของตนมีค่าเฉลี่ยที่สูงๆ แล้วถึงเวลาประเมินผลงาน ครูคนนั้นยังกล้าพูดได้หรือว่า ตนเองได้สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมไว้ในบทเรียนด้วย

   มีภารโรงคนหนึ่งเคยพูดกับผมตอนผมเด็กๆว่า ...คำสั่ง และคำสอนที่ดีที่สุด คือการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง...

   
 

โปรดสนับสนุนเรา ด้วยการทำ Link มาหาเราครับ  counter   หยดน้ำแห่งความคิด      ดินแดนปัญญาชน