น่ารู้เรื่อง "ผะหมี"

 

 

 

ผะหมี : ความบันเทิงของปัญญาชน
ผ.ศ.สุรีย์ ไวยกุฬา
 

ตอนที่ 3 ลักษณะของผะหมี
  
ผะหมีของพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีลักษณะเป็นร้อยแก้วบ้างแต่ส่วนใหญ่เป็นโคลงสี่สุภาพ ส่วนปัญหาที่ถามเป็นความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ สถานที่สำคัญ เหตุการณ์ปัจจุบันหรือเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยพระราชนิพนธ์ปริศนาที่เป็นร้อยแก้วนั้นจะเป็นการแปลศัพท์บ้าง ปัญหาเชาว์บ้างรวมถึงความรู้รอบตัวต่างๆ พระราชนิพนธ์ปริศนาของพระองค์นั้นไพเราะ คมคาย น่าอ่าน การคิดตอบปริศนาก็ได้รับความรู้ไปด้วย ตัวอย่างเช่น
 

   ตัวอย่างที่ 1
   ปริศนา         ใครหือชื่อตกแล้ว ไม่หล่น
                     คิดวัตถุชอบกล แปลกไซร้
                     ของนี้แหละให้ผล พิลึก
                     ช่วยทาสเป็นไทได้ แต่เบื้องโบราณ
   คำไข
     สำหรับปริศนาโคลงบทนี้เมื่ออ่านบาทที่หนึ่งจะได้ชื่อที่เป็นคำตอบชื่อตกแล้วที่ไม่หล่นคือพระร่วง เมื่อได้ชื่อพระร่วงแล้ว ผู้ที่เคยอ่านวรรณคดีเรื่องพระร่วง ย่อมทายสามบาทที่เหลื้อได้โดยง่ายว่า พระร่วงทรงใช้สติปัญญาใช้กะละออม หรือ ครุ เอาชันยาแล้วใส่น้ำส่งช่วยไปเมืองขอม และจากความคิดนี้เป็นต้น เค้าของการกู้ชาติไทยให้พ้นจากอำนาจของขอม
 

   ตัวอย่างที่ 2
   ปริศนา         คนหนึ่งชื่อคชผู้ เพลินตา
                     เป็นที่เสวกรา- ชะให้
                     เมื่อยามแต่งอาวาห์ มีเหตุ
                     แล้วก็เมียสองไซร้ แตกร้าวฉาวฉาน
    คำไข
     สำหรับโคลงปริศนาบทนี้ต้อทายคำตอบให้ครบทั้งสีบทจึงจะได้ความครบถ้วน ปริศนานี้เป็นเรื่องราววรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน คำถามของวรรคหน้าบาทที่ 1 ชื่อคชผู้ก็คือพลาย เพลินตาหมายถึงสวยงาม คำตอบของคนผู้นี้คือพลายงาม เมื่อทราบคำตอบของบาทที่ 1 แล้ว ผู้คิดตอบปริศนาจะสามารถหาคำตอบในบาทอื่นๆได้


   ตัวอย่างที่ 3
   ปริศนา “คำ 2 เสียง เสียงที่ 1 เป็นเสียงสั้น แปลว่า ล้าง เสียงที่สองเป็นเสียงยาว แปลว่าทำให้แค้น รวมสองเสียงแปลว่า ดำ ก็ได้หรือเป็นนามประเทศแห่งคนที่ไม้เป็นทาส”
   คำไข
     สั้นคือ สะ (พ้องเสียงคำว่าสระ) แปลว่าล้าง เสียงที่สองคำว่า หยาม แปลว่าทำให้แค้น เมื่อรวมสองเสียงจึงเป็น สยาม แปลว่า ดำ หรือคล้ำ และอีกความหมายหนึ่งก็คือเป็นชื่อประเทศของคนไทยนั้นเอง
     ลักษณะของผะหมีที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นผะหมีที่นิยมเล่นกันทั่วไปของชาวอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งได้มาจากการสาธิตและคำอธิบายของอาจารย์วีระ ฉ่ำตุ๋ย และคณะรวมถึงประชาชนชาวอำเภอบางบ่อ
 

   ลักษณะของตัวปริศนาหรือผะหมีมี 12 ลักษณะดังนี้
   1. โคลงสี่สุภาพ
   2. กลอนดอกสร้อย
   3. สักวา
   4. กาพย์ยานี
   5. กาพย์ฉบัง
   6. กลอน
   7. จตุพจน์
   8. จุลพจน์
   9. กระจุ๋มกระจิ๋ม
   10. ทศ
   11. อะไรเอ่ย
   12. ปริศนาภาพ

   ขั้นตอนในการสร้างปริศนา
   ผู้ที่คิดแต่งปัญหาผะหมีมักจะเป็นคนเดียวกับนายโรงคือผู้ดำเนินการในการเล่นแต่ละครั้ง สำหรับนายโรงผะหมีมือใหม่การคิดแต่งปัญหาผะหมีจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากลำบาก เพราะมีขั้นตอน มีข้อบังคับฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ชนิดต่างๆ ต้องมีความไพเราะ นอกจากนี้ยังต้องมีกลวิธีการแต่งที่เป็นการบอกใบ้คำตอบให้ผู้ทางมองเห็นทางที่จะทายให้ถูกต้องตามที่นายโรงเขียนเฉลยไว้ เรื่องนี้นายโรงจะต้องฝึกฝนคิดเขียนบ่อยๆ
   ในการคิดแต่งปัญหาผะหมีนั้น ขั้นตอนแรกคือจะต้องศึกษาเรื่องของตัวเฉลย และเตรียมไว้ให้มากพอก่อนจึงนำไปคิดแต่งปริศนา
 

   ลักษณะของตัวเฉลย
   ลักษณะที่ 1 พยางค์หน้าเป็นคำเดียวกันหรือเสียงเดียวกัน ตัวเฉลยชนิดที่มีชนิดนี้แยกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
     ก. รูปและเสียงเหมือนกัน
     ข. เสียงเหมือนกันแต่รูปไม่เหมือนกัน

   ตัวอย่างในข้อ ก. ที่เฉลยพยางค์หน้าเหมือนกันทั้งรูปและเสียง เช่น ตะกั่ว ตะเข็บ ตะโก ตะคร้อ เป็นต้น สังเกตว่าพยางค์หน้าของทุกคำจะเป็นคำว่า “ตะ” ทั้งหมด ตัวเฉลยชนิดนี้นิยมนำมาแต่งปริศนา แต่มีข้อเสียคือผู้ทายจะรู้สึกว่าปริศนานี้ง่าย มักจะทายถูก

   ตัวอย่างในข้อ ข. ตัวเฉลยที่มีเสียงเหมือนกัน แต่รูปไม่เหมือนกัน ที่เรียกว่าคำพ้องเสียง เช่น สักหลาด ศักราช เป็นต้น ตัวเฉลยชนิดนี้มักจะหายากจึงไม่ค่อยนิยมนัก
 

   ลักษณะที่ 2 พยางค์หลังเป็นเสียงเดียวกันตัวเฉลยชนิดนี้ 10 พยางค์สุดท้ายเป็นเสียงเดียวกัน เช่น ดาวลูกไก่ ลิ้นไก่ ไก่ หงอนไก่ ปลาหางไก่ เพลงไก่ จากตัวเฉลยที่ยกมานี้จะเห็นว่าพยางค์หลังเป็นคำว่า “ไก่” ทั้งหมด ตัวเฉลยชนิดนี้นิยมนำมาแต่งผะหมีมากกว่าลักษณะที่ 1 เพราะยากที่จะเปิดตำราทาย
 

   ลักษณะที่ 3 ตัวเฉลยเป็นคำผวนตัวเฉลยชนิดนี้ต้องผวนกลับจึงจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง เช่น ตัวเฉลย คือ สีลำ สีโภ สีมา สีโก เมื่อผวนกลับจะเป็นคำว่า สำลี โสภี สามี โศกี เป็นต้น
 

   ลักษณะที่ 4 ตัวเฉลยเป็นคำผวนวรรณยุกต์ ลักษณะตัวเฉลยแต่ละตัวจะไล่เสียงวรรณยุกต์ อาจจะเสียงสามัญขึ้นไปหรือจากเสียงจัตวาไล่ลงมาก็ได้ และไม่จำเป็นต้องครบเสียงวรรณยุกต์ เช่น ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า หรือ เรา เร่า เร้า เป็นต้น
 

    ลักษณะที่ 5 ตัวเฉลยเล่นอักษร ลักษณะตัวเฉลยเช่นนี้ถือเอาแต่ละตำแหน่งของคำตอบจะต้องเป็นอักษรเดียวกัน เช่น กระบือ กระบุง กระบะ กระเบื้อง จะสังเกตได้ว่าตำแหน่งที่ 1 อ กระ ตำแหน่งที่ 2 คือ บ หรืออลึ่งฉึ่ง อล่างฉ่าง อล่องฉ่อง ตำแหน่ง อักษรของคำตอบคือ อ ล ฉ เป็นต้น
 

   ลักษณะที่ 6 ตัวเฉลยมีคำตอบเดียวเป็นอิสระ เช่น คำถามอะไรเอ่ย ที่เคยทายเล่นกันมาในอดีต หรือ ผะหมีภาพ เป็นต้น
  

   ลักษณะที่ 7 ตัวเฉลยเป็นคำพังเพย สุภาษิต เช่น วัวหายล้อมคอก หัวล้านได้หวี เป็นต้น

   ในการคิดแต่งปัญหาผะหมี จะต้องเริ่มจากหาตัวเฉลยชนิดต่างๆ ไว้ให้มาก โดยต้องเป็นผู้รอบรู้ใฝ่ศึกษา ค้นคว้า อ่าน ดู ฟัง ทั้งเรื่องราวที่เป็นวิชาการ เหตุการณ์ปัจจุบัน บันเทิงต่างๆ สามารถนำมาสร้างปริศนาได้ทั้งสิ้น จะต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวของตัวเฉลยแต่ละตัวให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เช่น ศึกษาถึงที่มา คุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะ ประโยชน์ โทษ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อจะนำไปคิดเขียนผะหมี โดยชี้แนวทางบอกใบ้ให้ผู้ทายคลำทางได้ถูกและเพื่อนายโรงสามารถอธิบายเป็นการให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ผู้ทายอีกด้วย ปัญหาที่จะคิดสร้างตัวเฉลยนั้นหาได้จาก พจนานุกรม ชื่อสมุนไพร ชื่อเพลงไทย อาหารไทย ตัวละครในวรรณคดี ชื่อสัตว์ ชื่อเมือง ประเทศ ข่าวที่สำคัญ รวมความว่าเรื่องราวทุกแขนง สามารถนำมาทำผะหมีได้ทั้งสิ้น


 

 counter ©  Powered by SEAL2thai Team :::
 :::
[ดินแดนปัญญาชน]
::: [รวมสาระ] ::: [กระดานปัญญาชน] :::[คุรุชน วงการครู] ::: [สอบบรรจุครู] :::